สถานีพัฒนาที่ดินอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ที่ถนนชยางกูร บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 4 บ้านโคกจั๊กจั่น ตำบลบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร พื้นที่ 46 ไร่ เริ่มก่อตั้งเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 และเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานีพัฒนาที่ดินอำนาจเจริญ
1. เพื่อดำเนินการเผยแพร่งานพัฒนาที่ดิน ให้เกษตรกรและผู้สนใจรับทราบและเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ดิน
2. เพื่อให้การบริการและช่วยเหลือการเกษตรในด้านการพัฒนาที่ดินในรูปแบบต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน
3. เป็นแหล่งประสานงานและติดต่อราชการต่างๆ ของหน่วยงานราชการและเกษตรกร
4. เป็นตัวแทนกรมพัฒนาที่ดินในจังหวัดอำนาจเจริญ
อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ
1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเกษตรในไร่นา ตลอดจนการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร
3. ให้คำแนะนำเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดิน
4. ถ่ายทอดผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และให้บริการด้านการพัฒนาที่ดิน รวมทั้งสร้างเครือข่ายหมอดินอาสาและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ดิน และในด้านอื่น ๆ
ภารกิจหลักของสถานีพัฒนาที่ดินอำนาจเจริญ
1. ให้คำแนะนำ แก่เกษตรกร สนับสนุนงานวิชาการส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะการใช้ที่ดิน อย่างเหมาะสมและยั่งยืนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เกษตรกร ส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนบุคคลที่สนใจ เพื่อการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. ติดตามสถานการณ์การใช้ที่ดิน เพื่อประเมินศักยภาพ การผลิตพืชและเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม กับสมรรถนะของดิน รวมทั้งเพื่อความชัดเจนของสังคม ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตลอดจนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในเขตป่าไม้ถาวร แก่เจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนราชการและบุคคลที่สนใจ
3. ทำการวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ดิน ทั้งในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การแก้ไขดินที่มีปัญหาในการทำการเกษตร เพื่อถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ให้กับเกษตรกร เจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่สนใจ เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืน
4. ให้บริการวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน พันธุ์พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้งปฏิบัติการพัฒนาที่ดิน และการอนุรักษ์น้ำให้แก่เกษตรกร เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืน
5. จัดทำและให้การบริการข้อมูลระบบสารสนเทศด้านการพัฒนาที่ดิน แก่เกษตรกร ส่วนราชการและบุคคลที่สนใจ
6. ประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร เจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนราชการและประชาชนทั่วไป